logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ จีซิกพีดี (G6PD deficiency)

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : จีซิกพีดี (G6PD deficiency)

G6PD คือ เอนไซม์ที่มีความสำคัญในการช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ซึ่งภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หรือภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency / Glucose-6-phosphatase dehydroge nase deficiency) จะมีผลให้ผู้เป็นโรคนี้มีเม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากภาวะติดเชื้อต่างๆ การได้รับยา อาหาร และสารระเหยบางชนิด

โรค/ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องรู้จักระวังตัว เพื่อหลีกเลี่ยงจากได้รับสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น เรียนรู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นถ้าได้รับสิ่งกระตุ้น และเรียนรู้การแก้ไขเบื้องต้นก่อนรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

เมื่อมีการติดเชื้อหรือได้รับยาหรือสารเคมีที่ทำให้เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยจีซิกพีดีแตก โดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ เม็ดเลือดแดงแตกแบบเฉียบพลันซึ่งจะเกิดใน 24- 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับปัจจัยที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน/ท้องเสีย มีไข้ต่ำๆ ปวดหลัง ตามมาด้วย ปัสสาวะสีโคล่า ตาเหลืองเล็กน้อย และ มีภาวะโลหิตจาง/โรคซีด

เนื่องจากภาวะโลหิตจางในผู้ที่ขาดเอนไซม์จีซิกพีดีแบบเฉียบพลัน จะเกิดภายในเวลาไม่กี่วัน ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการ เหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ในเด็กอาจจะไม่เล่น ไม่กินอาหาร เพราะเหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่อยากทำอะไร อาการภาวะโลหิตจางจะหายไปในระยะเวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์

  • ผู้ป่วยอาจมีโลหิตจางมากจนหัวใจวาย/ ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • หากมีสารฮีโมโกลบินที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกไปค้างอยู่ในท่อไตปริมาณมากในสภาวะปัสสาวะเป็นกรด สารนี้จะตกตะกอนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะหรือท่อไต ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • การแตกของเม็ดเลือดแดงทำให้สารโพแทสเซียม (Potassium) ซึ่งอยู่ในเม็ดเลือดแดงเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดมาก ซึ่งเมื่อสารนี้สูงมากเกินไป อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น
  1. ยารักษาโรค: เช่น ยาแอสไพริน ยาโรคหัวใจ ยารักษามาเลเรีย ยาซัลฟา เป็นต้น เมื่อเกิดเจ็บป่วย ผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ควรพบแพทย์และต้องแจ้งแพทย์ทราบว่าเป็นโรคนี้อยู่ หรือกรณีซื้อยากินเองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ ร่วมกับต้องแจ้งเภสัชกรว่าตนเองเป็นโรคนี้
  2. อาหาร: ผู้เป็นโรคนี้ห้ามกิน ถั่วปากอ้า ในปัจจุบันพบว่า ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ “อาจ”มีผลต่อเม็ดเลือดแดงได้เช่นกัน เช่น บลูเบอร์รี่ ไวน์แดง พืชตระกูลถั่ว มะรุม โทนิค โซดาขิง เป็นต้น โดย”อาจ”มีผลต่อผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ผู้เป็นโรคนี้จึงจำเป็นต้องสังเกตและเรียนรู้ด้วยตัวเองว่ามีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เมื่อกินอาหารชนิดนั้นๆ /อาหารต่างๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยงในการบริโภคโอกาสต่อไป
  3. สารระเหยเพื่อช่วยดับกลิ่น: เช่น ลูกเหม็น การบูร พิมเสน เป็นต้น
  4. ภาวการณ์ติดเชื้อต่างๆ (โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ): อาจเป็นได้ทั้งจาก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น เป็นโรคหวัด/ไข้หวัด (จากเชื้อไวรัส) หลอดลมอักเสบ (อาจจากแบคทีเรียหรือไวรัส) มาลาเรีย (จากสัตว์เซลล์เดียว) ก็ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้